ชื่อหน่วยงาน ที่ตั้ง
และประวัติความเป็นมา
ชื่อหน่วยงาน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ที่ตั้ง อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ (26) เลขที่ 1 ถนนอู่ทองนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10300
โทรศัพท์ 0–2160–1143-1145 โทรสาร 0–2160–1146 เว็บไซต์ www.sci.ssru.ac.th , www.ssru.ac.th
ประวัติความเป็นมา
1.
ยุคแรกเริ่ม
นับจาก พ.ศ. 2480 จนถึง พ.ศ. 2560 รวมเวลา 80 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้เริ่มก่อตั้งจากโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย ก่อนปี พ.ศ. 2491 วิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่สอนในระดับประถมและมัธยมศึกษา ในปี พ.ศ.2501 ได้เปิดสอนเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทา หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) วิทยาศาสตร์จัดเป็นหมวดวิทยาศาสตร์ที่ประกอบด้วย ภาควิชาเคมี ภาควิชาชีววิทยา ภาควิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป
2. ยุคกลาง
ในปี พ.ศ. 2518 ได้เปลี่ยนเป็นวิทยาลัยครูสวนสุนันทา จัดเป็นคณะวิชาวิทยาศาสตร์ มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้บริการอบรมครูประจำการวิชาวิทยาศาสตร์และเปิดสอนระดับปริญญาตรีสายครุศาสตร์ คณะวิชาวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2527 ได้กำหนดให้วิทยาลัยครูเปิดสอนได้ 3 สาขา คือ สาขาการศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์ และสาขาศิลปศาสตร์ คณะวิชาวิทยาศาสตร์จึงได้เปลี่ยนเป็น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย 9 ภาควิชา และ 2 โปรแกรมวิชา ปี พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวิทยาลัยครูเป็นสถาบันราชภัฏ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เปิดสอน 2 สาขา คือ สาขาวิชาการศึกษา ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2545 นักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาได้ย้ายไปอยู่ในความรับผิดชอบของคณะครุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเปิดสอนเฉพาะสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ทั่วไป สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาฟิสิกส์ สาขาวิชาชีววิทยาประยุกต์ สาขาวิชาสถิติประยุกต์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
3. ยุคปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเป็นคณะในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดสอนในสาขาวิทยาศาสตร์ระดับปริญญาตรี 4 ปี ได้แก่ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ทั่วไป สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาชีววิทยาประยุกต์ สาขาวิชาฟิสิกส์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาวิชาสถิติประยุกต์ สาขาวิชาจุลชีววิทยา สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสาขาวิชาอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ
พ.ศ. 2549 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีเพิ่ม 2 สาขา ได้แก่สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และสาขาวิชาคณิตศาสตร์สารสนเทศ และระดับปริญญาโท (ภาคพิเศษ) 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ศึกษา และสาขาวิชาการจัดการและควบคุมมลพิษ พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
พ.ศ. 2552 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี 14 สาขาวิชา ได้แก่สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์สารสนเทศ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาเคมีสาขาวิชาชีววิทยาประยุกต์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมสาขาวิชาสถิติประยุกต์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิชาจุลชีววิทยา และสาขาวิชาอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ (ปิดหลักสูตรฟิสิกส์) และระดับปริญญาโท (ภาคพิเศษ) 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการจัดการและควบคุมมลพิษ และสาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ (ปิดหลักสูตรคณิตศาสตร์ศึกษา ภาคพิเศษ)
พ.ศ. 2553 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดสอนระดับปริญญาตรีเพิ่มอีก 4 สาขาวิชา คือ ฟิสิกส์ประยุกต์ วิทยาศาสตร์สุขภาพและความงาม จุลชีววิทยาอุตสาหกรรม (ปิดหลักสูตรจุลชีววิทยา) และชีววิทยา (ปิดหลักสูตรชีววิทยาประยุกต์) รวมหลักสูตรที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี 16 สาขาวิชา และระดับปริญญาโท 2 สาขาวิชา
พ.ศ. 2554 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีเพิ่ม 1 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (ดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุ)
พ.ศ. 2555 สาขาวิชาในสังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 4 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (ดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุ) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและความงาม และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ ได้ย้ายออกเป็นหน่วยงานภายนอกภายใต้สังกัดวิทยาลัยสหเวศศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีหลักสูตรระดับปริญญาตรี จำนวน 13 สาขาวิชา โดยแบ่งออกเป็น 2 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยสาขาวิชาต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ สาขาวิชาคณิตศาสตร์สารสนเทศ สาขาวิชาสถิติประยุกต์ สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาชีววิทยา สาขาวิชาฟิสิกส์ประยุกต์ สาขาวิชาจุลชีววิทยาอุตสาหกรรม และภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ประกอบไปด้วยสาขาวิชาต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ
พ.ศ. 2556 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาเอก (ภาคพิเศษ) เพิ่มเติม ได้แก่ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ ส่วนหลักสูตรระดับปริญญาตรี ยังคงมีจำนวน 13 สาขาวิชา เช่นเดิม
พ.ศ. 2557 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทเพิ่มเติม คือ หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การศึกษา (ภาคปกติ) ด้วยความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นความร่วมมือในการดำเนินงานผลิตครู สควค.ระยะที่ 3 ระดับปริญญาโททางการศึกษา
พ.ศ. 2558 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ ได้ย้ายจากวิทยาลัยสหเวชศาสตร์มาสังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมหลักสูตรระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีจำนวน 14 สาขาวิชา
พ.ศ. 2559 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี เพิ่มอีก 1 สาขาวิชา ได้แก่สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ เป็นหลักสูตรใหม่ ส่วนสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์และสาขาวิชาอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ มีการปรับปรุงหลักสูตรโดยทำการรวมทั้ง 2 สาขาวิชาไว้เป็นหลักสูตรเดียวคือ คหกรรมศาสตร์ ดังนั้นหลักสูตรระดับปริญญาตรีของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันมีจำนวน 14 สาขาวิชา ส่วนหลักสูตรระดับปริญญาโท (ภาคพิเศษ) ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรเดิมคือการจัดการและควบคุมมลพิษ มาเป็นหลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อมแทน